Text neck syndrome คืออะไร แล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพเราได้อย่างไร?
ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่จำเป็นในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว และได้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ ซึ่งในอดีตเราจะใช้โทรศัพท์เพื่อการติดต่อสื่อสารเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันเราใช้โทรศัพท์เพื่อท่องโลกออนไลน์ในการทำธุรกรรมต่างๆ เช่น ดูหนัง/ฟังเพลง ชอปปิ้ง หรือเล่นเกมส์ออนไลน์
เราใช้โทรศัพท์บ่อยแค่ไหนกันนะ?
🤔ทีนี้พวกเราเคยสังเกตุกันมั้ยว่า ในหนึ่งวันเราก้มเล่นโทรศัพท์กันวันละกี่ชั่วโมง จากข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2565
🔎 พบว่า คนไทยมีพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน จากกลุ่มตัวอย่าง 46,384 ราย ซึ่งกิจกรรมดูคลิป/หนัง/ฟังเพลง คิดเป็นร้อยละ 41.51, ดู Live commerce ร้อยละ 34.10,
อ่านโพสต์/ข่าวคิดเป็นร้อยละ 29.51, ชอปปิ้งออนไลน์ ร้อยละ 29.51 และเล่นเกมส์ออนไลน์ ร้อยละ 18.75 นั่นแปลว่าเราใช้เวลา 1 ใน 3 ของแต่ละวันไปกับการเล่นโทรศัพท์กันเลยนะครับ
(ETDA,Thailand internet user behavier)
หากเราก้มดูโทรศัพท์เป็นเวลานานๆ จะมีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร
การก้มดูโทรศัพท์เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Text neck syndrome หรือกลุ่มอาการกล้ามเนื้อคอบ่าเคล็ดจากพฤติกรรมก้มดูอุปกรณ์โทรศัพท์เป็นเวลานานๆ จัดอยู่ในกลุ่มอาการโรคกล้ามเนื้อที่เกิดจากการใช้งานซ้ำๆ (Overuse syndrome) ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย คือ ปวดคอร้าวขึ้นศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อบ่า หรือบางรายอาจมีอาการปวดร้าวลงไปไหล่และแขนได้
👉🏻โดยปกติแล้วกระดูกสันหลังคอ จะทำหน้าที่รับน้ำหนักของศีรษะ ซึ่งการก้มคอมาด้านหน้าจะทำให้กระดูกคอต้องรับน้ำหนักจากศีรษะมากขึ้นตามองศาการก้มคอที่เพิ่มขึ้น
ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดต่อกระดูกสันหลังคอมากกว่าปกติ จากการศึกษาของ David D และคณะ พบว่า หากเราก้มคอที่ 30 องศา กระดูกต้นจะต้องรับน้ำหนักของศีรษะที่ 18.14 kg และ 22.23 kg หากก้มคอที่ 45 องศา(1)
เป็นผลทำให้กล้ามเนื้อคอด้านหลังต้องทำงานหนักมากเกินไป จนนำไปสู่การเกิดการอักเสบของ กล้ามเนื้อ เอ็น และที่อันตรายกว่านั้น คือ การเสื่อมของข้อต่อกระดูกสันหลังระดับคอ(2) จนนำไปสู่ภาวะกระดูกทับเส้นประสาท
แล้วเราจะมีวิธีป้องกันดูแลสุขภาพกระดูกคอได้อย่างไรบ้าง?
- หลีกเลี่ยงการก้มคอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
- เลี่ยงการนอนคว่ำอ่านหนังสือหรือดูโทรศัพท์
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักเป็นเวลานานๆ
- เลี่ยงท่าทางที่อยู่นิ่งๆเป็นเวลานานๆ
- พยายามปรับอิริยาบถบ่อยๆ
👩🏻⚕️หากคุณกำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อตรวจประเมินความผิดปกติของการเคลื่อนไหว เพราะ การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัดและการออกกำลังกายที่ออกแบบเฉพาะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการรักษาอาการ text neck syndrome 👨🏻⚕️
สามารถปรึกษาหรือนัดหมายคิวได้ที่ ยินดีคลินิกกายภาพบำบัด โทร. 061 265 3235
Reference
1.(David D, Giannini C, Chiarelli F, Mohn A. Text Neck Syndrome in Children and Adolescents. Int J Environ Res Public Health. 2021;18(4):1565. Published 2021 Feb 7)
2.(Neupane S, Ifthikar Ali UT, Mathew A. Text-Neck Syndrome-Systemic review. Imperial Journal of Interdisciplinary Research. 2017;3(7):141-148. Accessed 18 July 2019.)